ไม่นึกไม่ฝันว่า มาถึงวันนี้ ได้ทำรีวิวหม้อต้มกาแฟไปแล้ว 3 ใบ ซึ่งทั้งหมดนั้นเป็น Moka Pot (Stove top espresso machine) ที่ผมใช้ต้มกาแฟสดเข้มๆ ทานทุกๆเช้า ใครไม่รู้จัก Moka Pot ที่กลายเป็นเครื่องทำกาแฟกำลังสุดฮิตในไทยตอนนี้ ลองไปดูที่ นี่นะครับ เผื่อเป็นไอเดียสำหรับผู้สนใจ “รีวิว หม้อต้มกาแฟ โดย evopolis.com”
และมาวันนี้ ด้วยเหตุบังเอิญที่พี่ชายผมได้สั่งซื้อ หม้อต้มกาแฟ มาใหม่ โดยเพื่อจะนำไปใช้ในป่าในดงเวลาไปท่องเที่ยวกางเต๊นท์ บนภูเขา, ของมาถึงผมก็อดไม่ได้ที่จะต้องเอามาทำรีวิวให้ชมกัน และคิดว่า ไม่เคยมีใครทำ รีวิว หม้อชนิดนี้ ในเมืองไทยแน่ๆครับ
ก่อน อื่นๆ ขอเล่าข้อมูลหม้อต้มกาแฟสด แบบชนิดใช้เตา ไม่ใช้ไฟฟ้า ที่นิยมใช้กัน ทั่วโลก นะครับ
หลักๆแบบแยกตามหลักการทำงาน จะมี
1. Coffee Sock : กาแฟโบราณ ต้มน้ำ ชงด้วยฟิลเตอร์ทรงคล้ายๆถุงเท้า จุ่มแล้วยก จุ่มแล้วยก ครับ ไม่เหมาะกับทำครั้งละน้อยถ้วย ทั้งไทยและต่างประเทศก็ใช้กันแต่มักใช้ทำค้าขายไม่ใช้ในบ้าน เมืองไทยแพร่หลายมากๆครับ ซึ่งเค้ามักไม่ค่อยใช้ผงกาแฟที่ดีๆ แต่กลับใช้ผงกาแฟผสมอะไรต่างๆนาๆลงไปคงเพื่อลดต้นทุนและรสชาติแบบไทยๆ คุณเชื่อหรือไม่ ผงกาแฟที่มาใช้ทำกาแฟโบราณไทย กระป๋องละ 1 กิโล ราคา 100-120 บาท (เพราะมันไม่ใช่ผงกาแฟล้วน) แต่ผสมพวก ข้าวโพด, ถั่วเหลือง, ถั่วขาว, น้ำตาล, เกลือ และอื่นๆ แต่มีกาแฟแค่ 25%
2. Moka Pot : หม้อต้มกาแฟแบบใช้แรงดันไอน้ำภายในดันน้ำร้อนอัดผ่านผงกาแฟขึ้นมา ที่ให้กาแฟที่เข้มข้นเป็นพิเศษ เข้าเน้นๆดิบๆ นิยมที่สุดมาเนิ่นนานจนถึงปัจจุบัน และในเมืองไทยก็เริ่มนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ.
3. Vacuum Coffee Maker : หรือเรียกว่า Siphon (ไซฟ่อน) แปลตรงๆว่า กาลักน้ำ ใช้ระบบแรงดูดน้ำร้อนจากกระเปาะแก้วด้านล่างผ่านผงกาแฟขึ้นสู่ด้านบนแล้วเมื่ออุณหภูมิลดลงก็จะไหลกลับผ่านผงกาแฟอีกครั้งลงมาในกระเปาะแก้ว จริงๆแล้วแบบไซ่ฟ่อน จะมีทั้งแบบกระเปาะคู่วางข้างกันน้ำไหลผ่านครั้งเดียวจบ แต่เค้านิยมวางตั้งคู่บนล่างมากกว่าเพราะน้ำผ่านการแฟสองครั้งรีดกาแฟได้ดีกว่า. เนื่องจากใช้กระเปาะแก้วจึงต้องพิถีพิถันในการใช้ในการทำความสะอาดเป็นพิเศษ กาแฟที่ได้ค่อนข้างนุ่มนวลชวนฝัน อีกทั้งมันก็เป็นเครื่องประดับห้องครัวได้อย่างดีเลยครับ ดู มีคลาส มีระดับ.
4. Percolator : หลักการคล้ายๆ ไซฟ่อน แต่ใช้หลักการขยายตัวของน้ำร้อนแบบหมุนวนผ่านผงกาแฟ เราสามารถควบคุมความเข้มด้วยการกะเวลาการต้มได้ เรามักไม่ค่อยเห็นแบบนี้เท่าไหร่ไม่ว่าที่ไหนในโลกครับ
5. Drip Brew : แบบระบบน้ำหยด (Drip brew) ผ่านฟิลเตอร์เช่น เวียดนาม Vietnamese Coffee Filter เอาน้ำร้อนเทใส่ผงกาแฟแล้วรอน้ำหยด อันนี้ผมมีครับเดี๋ยวว่างๆจะทำรีวิวให้ชมกัน ราคาถูกที่สุดในจำนวนเครื่องทำกาแฟสดละ
6. French Press / Hand Press Filter : แบบใช้มือกดอัด (โช๊คขึ้น โช๊คลง) เห็นกันบ่อย แต่ปกติในไทยจะเอามาใช้กับชงชามากกว่าครับ เป็นถ้วยแก้วมีโครงเหล็ก แล้วใช้ตระแกรงเป็นตัวกดใบชาลงไปอยู่ข้างใต้
7. อื่นๆยังมีอีก หลักการทำงาน พลิกไปๆมาๆนิดๆหน่อย จากข้างบนครับ ส่วนใหญ่มักต้องต้มน้ำก่อนแล้วเอามาเทใส่แล้วเริ่มทำ เช่น AeroPress (อัดอากาศดันน้ำผ่าน ผงกาแฟ คล้ายแบบหยดแต่เพิ่มตัวอัดด้วยแรงมือกดเข้าไปด้านบน), Handpresso (อันนี้นวัตกรรมใหม่ไม่กี่ปีนี้ ครับ รู้สึกใช้โช๊กอัดแรงดันด้วยมือ) เป็นต้น
ตัวอย่างเพื่อประกอบคำอธิบาย ชนิดที่นิยมของเครื่องทำกาแฟสด แบบไม่ใช้ไฟฟ้านะครับ
เอาละครับ เกริ่นกันมายืดยาวเลย เรามาเริ่มกับหม้อที่ผมจะรีวิววันนี้กันนะครับ ขอบอกว่าภาพเยอะอีกเช่นเคยครับ
กล่องครับ (วุ๊ย จะถ่ายมามัย) ถ่ายมาให้เห็นว่า มันเกลี้ยงๆ ไม่มียี่ห้อ ไรที่มาครับ
ข้างใน มีแต่หม้อครับ ไม่มีคู่มือ ไม่มีอะไรเลย เวลาใช้ก็เดาเอาเอง แต่มันไม่มีอะไรซับซ้อนครับ
สำรวจภายนอก
สวยงามครับ ของใหม่มันเง๊าเงา ไม่มีบุบ ครับ ดูแล้วมันก็เหมือน กาต้มน้ำโบราณย้อนยุคแบบพิเศษๆอะไรแบบนั้น วัสดุ เป็น อลูมิเนียม ทั้งอัน ปั๊มขึ้นรูป ปัดเงาด้านนอกครับ
เราเรียกหม้อต้มกาแฟชนิดนี้ว่า Stove-top Coffee Percolator ครับ แปลว่า เครื่องกรองกาแฟแบบตั้งเตา ให้น้ำร้อนซึมเข้าตัวผงกาแฟ หลักการคล้ายๆกับเครื่องต้มกาแฟไฟฟ้าแบบหยดลงโถแก้ว
แต่อันนี้ มันหยดแบบหมุนเวียนครับ ไม่ใช่รอบเดียวจบ
หม้อสไตล์นี้ มีเจ้าตลาดดั้งเดิม อยู่นะครับ คือยี่ห้อ Comet (โคเม็ต) ครับ ใครสนใจลองไปหาข้อมูลดูได้ แต่เท่าที่รู้เค้าไม่มีผู้นำเข้าอย่างเป็นทางการนะครับ จะหาก็คงต้องหาของหิ้วแทน
หลายคนคงคุ้นๆ ว่าเคยเห็นที่ไหน ผมก็ขอเฉลยเลยว่า หม้อชนิดนี้ เราคนไทยมักจะเห็นอยู่ใน ภาพยนต์ฝรั่ง ที่ออก แนวบ้านนอกเมือง, คาวบอย หรือ พวกกระท่อมในป่า เรามักจะเห็นมันวางอยู่บนเตา หรือ กองไฟกลางป่าในฉากบ่อยๆ
เช่น ที่นึกได้คือ ภาพยนต์รักโรเแมนติก เรื่อง Always มันวางอยู่บนเตาที่ครัวบ้านนางเอก เป็นต้นครับ (พาบทความ เข้ารกเข้าพง แล้วเรา)
ด้านหน้าทำแค่ จงอย ปากของตัวกา เอาไว้รินน้ำกาแฟครับ
ตรงจงอยปาก ก็ไม่มีอะไรซับซ้อน เพียงแค่มี Filter ใช้อลูมิเนียมเจาะฉลุเป็นรู นิดหน่อยครับ แค่กันสิ่งแปลกปลอม เข้าไป หรือหลุดออกมา
ด้านข้างมีระบุ จำนวน Cups ไว้ด้วย Maximum สูงสุดที่ 9 ถ้วย ต่ำสุดที่ระบุ คือ 5 ถ้วย
ใช้ระบบหูหิ้วครับ คิดว่า เวลาร้อนๆ คงต้องใช้ผ้าแน่ๆ และยังมีหูเล็กๆที่ด้านหลัง ซึ่งคิดว่า น่าจะเอาไว้ยกท้ายเพื่อรินใส่แก้วได้ง่ายๆ
จุดเด่น ภายนอกมันคือจุกใสๆที่ฝาครับ เอาไว้ทำอะไร มีหน้าที่อะไร เดี๋ยวมาชมกันต่อไปครับ
จุกตัวนี้ครับ เป็นใสๆ มองทะลุลงไปที่ตรงกลางจะเห็น ท่ออลูมิเนียมโผล่ขึ้นมา
อีกมุมชัดๆครับ ด้านข้างจะมีรูเล็ก เพื่อระบายไอน้ำส่วนเกินนิดๆหน่อยๆ จริงๆระบายจากปากกาก็ได้อยู่
ดูที่จุก ก็พบว่าเชื่อต่อกับโดมด้วยระบบเกลียวหลวมๆ
หมุนจุกออกมาฝาเป็นแบบนี้ สรุปว่ารูเล็กๆคือบากไว้ก็เพื่อทำช่องเกลียวให้จุกหมุนเข้าไปได้ครับ
จุกเป็นโดมแก้วขึ้นรูปอย่างหนาครับ ตอนแรกคิดว่าเป็นพลาสติก มีเขียวไว้ล๊อกกับฝา
โดมแก้วอีกมุมชัดๆครับ เกลียวเหมือน ปากขวดฝาเกลียว
เราจะมุ่งหน้าไปสูตัวหม้อภายในนะครับ จะเห็นว่ามันก็มีเครื่องในอยู่ดูแน่นๆ
ลักษณะเป็นอลูมิเนียมเจาะรูเหมือนเป็น ฟิลเตอร์ แต่มันเป็น Spreader Plate (แผ่นกระจายน้ำ) มีหน้าที่กระจายน้ำที่ไหลลงมา ให้กระจายหยดลงทั่วผงกาแฟ
ซึ่งมีท่อตรงกลางโผล่ขึ้นมันก็คือที่เราเห็นได้จากโดมบนฝา ผมเอาโดมแก้วมาครอบให้ดู
โดยสรุปชิ้นส่วนมี 4 ชิ้นหลักๆครับ
ภายในตัวหม้อ ไม่มีอะไรพิเศษอีกแล้ว และภายในมันไม่ได้ขัดเงา
ซึ่งผิวภายในไม่ได้ขัดเงามันก็เหมือนๆกับ หม้ออลูมิเนียมหรือปิ่นโตอลูมิเนียม ที่เราคุ้นเคย
ใส้ในครับ ยกออกมาได้เลย ไม่มีอะไรยึดกับตัวหม้อ มันวางอยู่ในหม้อเฉยๆเลย ตั้งได้ครับ
ดูไปดูมาส่วนบนมันคล้ายๆ เครื่องในเครื่องซักผ้าเลยครับ
กลับมาดูใส้ใน อีกที พบว่าถอดได้ 3 ชิ้น คือ แกนกลางท่อส่งน้ำร้อน กระเปาะใส่ผงกาแฟ และฝาปิดฟิลเตอร์กระจายน้ำ
ถ่ายอีกมุม จะเห็นว่า ตัวที่ใส่ผงกาแฟ ก็เจาะฉลุพรุนเอาไว้ด้วยเพื่อเป็นฟิลเตอร์ไม่ให้ผงกาแฟหลุดลงมาเยอะ
ความสูงก็อยู่ที่ประมาณในภาพครับ
เส้นผ่านศูนย์กลางของหม้อใบนี้ คือ 12.5 เซ็นติเมตรครับ ถ้าจะซื้อมาใช้ ต้องดูที่ฐานหัวเตาเราด้วยว่าเล็กพอใหม
เทียบความหล่อ กับ moka pot bialetti brikka 4 cups ใบล่าสุดของผม
ดูดี สวยงาม ทั้งคู่ครับ ให้ความรู้สึกว่า กาแฟต้องออกมา หอมหวล ชวนชิม ได้อรรถรส ในการดื่มแน่ๆ
ถ่ายภายนอกอีกภาพสวยๆ ก่อนจะไปถึงขั้นตอนลองใช้งานจริงครับ
หลักการทำงาน
หลักการทำงานเข้าใจไม่ยากครับ คือ หม้อเป็นระบบเปิด หมายความว่า ไอน้ำสามารถกระจายออกจากหม้อไปได้ (ต่างกับ mokapot ที่ต้องใช้ไอน้ำเป็นตัวสร้างแรงดันสูง)
ให้ดูที่ลูกศรขาว ซึ่งจะเป็นเส้นทางของน้ำครับ เมื่อน้ำร้อนจะขยายตัวดันตัวเองขึ้นสู่ท่อนำน้ำร้อนขึ้นไปด้านบนสุดถึงโดมแก้ว(บางรุ่นไม่มีโดมแก้ว) น้ำกระจายลงสู่แผ่นกระจายน้ำ ให้หยดลงสู่ผงกาแฟ
น้ำที่ผ่านผงกาแฟก็จะไหลกลับลงใปในหม้อด้านล่าง แล้วน้ำร้อนก็วนเวียนเป็นวัฏจักร แบบนี้เรื่อยไป ดังนั้น ความเข้มของแกแฟเราเลือกได้โดยวิธีตั้งไฟไปเรื่อยๆให้น้ำวนไปเวียนมาจนเข้มเท่าที่เราต้องการ
ทดลองใช้งานจริง
เนื่องจากผมทำสำหรับดื่มคนเดียว ผมจึงไม่รู้ว่าควรจะเท่าไหร่ก็แน่ ผมจึงใส่ผงและน้ำเข้าไปเท่ากับที่ใช้ใน moka pot ทุกๆวันของผมครับ ซื่งประมาณ 3 Cups (1 ถ้วยคนไทย)
ใส่ผงไปเท่าที่เห็นในภาพ, น้ำด้านล่างก็ใส่ไป ประมาณ 3 cups ประมาณเอาว่าต่ำกว่าจาก ขีด 5 cups ที่อยู่ข้างหม้อนิดพอสมควร ให้มันประมาณ 3/5 ส่วน
ผงกาแฟก็สูงประมาณนี้ครับ แนะนำว่าเติมผงกาแฟเมื่อเครื่องในอยู่ในหม้อแล้วแบบนี้นะครับ อย่าไปเติมข้างนอกก่อนยกเครื่องมันมาใส่ โอกาศหกกระจายสูงมาก
กระเปาะใส่ผงกาแฟมีขนาดใหญ่มาก ไม่ต้องกลัวตอนใส่ผงแล้วเละเทอะ
ปิดฝา กระจายน้ำ ครับ แล้วปิดฝาหม้อได้เลยครับ
ผมใช้หัวเตาเล็กของผมครับ ตอนแรกกะจะวางหัวเตาใหญ่ แต่มันเล็กไม่พอครับ วางไม่ได้ เพราะตูดหม้อเส้นผ่านศูนย์กลางแค่ 12.5 cm.
ปกติ moka pot ไฟแรงสุด แค่ ไม่เกิน 3 นาทีก็เสร็จแล้ว
แต่ใบนี้เฝ้ารอเฝ้ามองอย่างใจจดใจจ่อ รอนาน 5 นาทีก็ยังไม่มีอะไรเกิดขึ้น ได้ยินเสียงน้ำเดือดปุดๆภายในหม้อแค่นั้น
รอต่อ 10 นาที ก็ยังไม่มีอะไรขึ้นมาที่โดมของฝาหม้อตามที่คาดการณ์ไว้ จึงปิดไฟแล้วรินเลยครับ ในใจคิดว่า มันอาจจะเสร็จแล้ว เพราะ 10 นาทีแล้ว
พบว่า รินกาแฟออกมาได้ แต่น้ำร้อนใสๆครับ +++ เปิด ดูที่ผงกาแฟก็ยังแห้งไม่มีน้ำไหลผ่านเลยแม้แต่น้อย
โอวม่ายนะ อันนี้ฉานทำไรผิดไป หรือว่าหม้อเสีย ?!?!?
นั่งครุ่นคิดสักพัก จึงนึกได้ว่า หม้อมีปั้มแค่ 5 cups อยู่ล่างสุด ซึ่งอาจจะเป็นไปได้ว่า น้ำน้อยที่สุดที่ทำได้คือ 5 cups
รีบจัดการเติมน้ำให้ถึงระดับ 5 cups พร้อมเพิ่มผงกาแฟเข้าไปอีกหน่อย ให้พอดีๆกับ 5 cups
ตั้งไฟรอเหมือนเดิมครับ
แต่คราวนี้ มาแล้วครับ ผ่านไป 5 นาทีน้ำเดือดปุดๆ ที่โดมแก้ว เริ่มมีไอน้่ำจับตัว
อีก 2 นาทีไอน้ำจับตัวเป็นหยดน้ำไหลลงไป ในใจคิด เออ เรามาถูกทางแล้ว
ผ่านไป อีก 3 นาทีน้ำเริ่มพุ่งขึ้นมาที่ฝาโดมครั้งแรกแล้วไหลกลับลงไป ซึ่งมันไหลกลับไปสู่กระเปาะผงกาแฟแน่ๆ แต่น้านนานจะพุ่งขึ้นมาทีนึง
ผ่านไปอีก 2 นาทีน้ำเริ่มพุ่งต่อเนื่องมากขึ้นๆ แต่ว่า น้ำที่พ่นขึ้นมา มันยังดูใสๆครับ ผมเลยรอต่อไป รอจนผ่านไป 12 นาทีได้แล้ว
ผมต้องใช้ความอดทนมากๆเลยครับ รอจนน้ำกาแฟที่ขึ้นมาเปลี่ยนสีเข้มจะคิดว่าน่าจะเข้มพอ
เข้มประมาณนี้
คุณผู้อ่าน เชื่อไหมครับ ว่าจากต้นจนจบ ผมใช้เวลาต้ม ไฟแรงสุด ประมาณ 20 นาที !!!!! สำหรับ 5 cups
โอว! แม่จ้าว ตื่นเช้ามาต้มกาแฟกิน จะไหวไหมเนี่ย
คุณภาพที่ได้ เมื่อเทียบกับ moka pot แล้วใช้ผงกาแฟถุงเดียวกัน ผมว่ารสชาติไม่เลวครับความเข้มข้นใช้ได้ แต่ออกแนวนุ่มนวลกว่า moka pot ครับจริงๆแล้วผมยังสามารถตั้งไฟต่อไปได้ให้มันเข้มขึ้นๆอีกนะครับ แต่รอไม่ไหวครับ 20 นาทีสำหรับแก๊สเปลืองเกินไป
ภาพที่ถ่ายหมดลงแล้วครับ ขอสรุปเลยดังนี้ครับ
ข้อดี
– ใช้วิธีแรงดันน้ำขึ้นสู่ด้านบนไหลผ่านผงกาแฟ แบบน้ำวนเวียน จึงใช้ผงกาแฟได้คุ้มค่า
– สามารถควบคุมความเข้มได้ โดยดูจากสีน้ำที่พุ่งขึ้นจากโดม รอจนเข้มเท่าที่ต้องการได้
– ไม่มีวัสดุสิ้นเปลืองเลยครับ ใช้ได้นานจนกว่าอุปกรณ์ชิ้นส่วนเสียหายไป
– รสชาติ ดีมาก นุ่มนวล หอมกรุ่นไป ทั้งครัว ยิ่งตั้งนาน กลิ่นยิ่งออก
– ราคาไม่แพงเลยครับ
ข้อด้อย
– ไม่เหมาะกับทำน้อยแก้ว
– ใช้เวลาต้ม นานเกินไปมาก นานเกินไป กว่าจะได้ความเข้มข้นสูงๆ
– ถ้าจะทานน้อยแก้ว เปลืองแก๊สโดยใช่เหตุ เสียค่าแก๊ส มากกว่าค่ากาแฟ
ความเหมาะสมในการใช้งาน
– ถ้าใช้ในบ้าน : เนื่องจากหม้อนี้ต้มได้เยอะแก้ว (ถึง 9 cups) ถ้าเป็นบ้านใหญ่ สมาชิกเยอะที่ทานกาแฟเหมือนกัน ใบนี้เหมาะมากครับ ทำทีเดียวทานได้ครบทุกคน ถ้าแบบนี้ถึงใช้แก๊สคุ้มค่าครับ หรือไม่ก็คนที่ทานกาแฟทั้งวัน แบบต้มตอนเช้า อุ่นดื่มได้ทั้งวันถึงตอนเย็นๆ
– ถ้าไปท่องเที่ยว : เหมาะมากที่สุดครับ ใช้กับตั้งแค้มป์ ห้อยหม้อต้มไว้บนฟืน ตั้งไฟไปเรื่อยๆเอื่อยๆ หม้อเดียวทานได้ทั้งวัน เรียกได้ว่า หม้อกาแฟสนาม ก็ได้เลยครับ
ขอบคุณทีมาแวะชมนะครับ
————–
เพิ่มเติม พิเศษ ครับ หลังจากค้นข้อมูลเพื่อทำบทความ ก็ไปพบว่า หม้อใบนี้ผู้ทำขาย ได้รับแรงบันดาลใจมาจาก ยี่ห้อ Coleman ครับ (อันที่จริงก็ ก๊อบมาแหละ 55 ) ฝาแฝดของมันแท้ๆคือใบตามในรูปที่ผมหามาครับ ผมค้นเจอภาพจากคนขายของเก่าๆในอีเบย์ครับตอนนี เป็นฝรั่งขาย แต่ตอนนี้คงขายไปแล้วเพราะไม่เห็นอีกเลย
ลองดูภาพเทียบกับที่ผมถ่ายดูนะครับ เหมือนเป๊ะๆ เรียกได้ว่า โมลปั๊มตัวเดียวกันได้เลย ต่างแค่ถอดโลโก้ใต้หม้อทิ้งไปแค่นั้นครับ
ขอบคุณครับที่สละเวลามาเยี่ยมชม บทความรีวิวชิ้นนี้ครับ
และอย่าลืมนะครับ ใครสนใจหม้อกาแฟชนิดใช้เตา ลองไปชมรีวิวชิ้นอื่นๆต่อได้ ที่ รีวิว หม้อต้มกาแฟ stovetop coffee maker ของ evopolis ของเรากันต่อครับ
—-
มีประโยชน์ มากมายเลยค่ะ กำลังสนใจ ขอบคุณนะคะสำหรับ รีวิวดีๆๆ
สวัสดีครับ รีวิวกาชนิดนี้ได้ชัดเจน มีประโยชน์ได้ความรู้มากครับ พอจะชี้เป้าซื้อกาใบนี้ให้ได้มั้ยครับ
สวัสดีครับ,
รีวิวชิ้นนี้นานมากแล้ว จึงไม่สามารถแนะนำให้ได้ว่าซื้อที่ไหน
จริงๆแล้ว กาต้มกาแฟชนิด Percolator แบบในรีวิว แต่ก่อนหาซือได้ตามร้าน ขายของ outdoor ทั่วไปๆ
แต่เดี๋ยวนี้เค้านิยม Moka Pot กันมากกว่าครับ (เหตุผลตามในรีวิว) ตอนนี้ตามร้านอาจจะมีคงเป็นสต๊อกเก่าครับ
ขอบคุณครับที่แวะมาเยี่ยมชม รีวิวของเราครับผม