ผ่านไปไม่กี่วัน ที่ผมทำบทความรีวิว Philips E27 4W และ 7W ไปแล้ว ซึ่งก็ไม่นึกว่าจะมาทำรีวิวหลอด 14W นี้อีกครับ รวมๆแล้ว 2 ปี เฉพาะยี่ห้อ philips เราก็มีบทความรวมกัน 4 บทความ ตั้งแต่ 4W/5W/7W/14W แล้วครับ ยังมี Sylvania อีก ที่ 6W อีกด้วย
หลายคนคงคิดว่า อีโวโพลิสได้สปอนเซอร์จาก Philips มาหรือเปล่า ขอตอบเลยว่าไม่มีครับ ผมซื้ออะไรมา ก็ซื้อด้วยจังหวะและเวลาตอนซื้อของชิ้นนั้นๆ หลอดไฟ แอลอีดี ฟิลิปส์ ก็เหมือนกัน พอเวลาที่จะไปหาหลอด ก็มันจะโดนกับฟิลิปส์ซะทุกที
หลอดดวงนี้ ผมซื้อมาเปลี่ยนที่ห้องนอนครับ ซึ่งเดิมใช้หลอด ฟลูออเรสเซ็นต์ แบบกลม ขนาด 32 Watts ซึ่งคิดว่าส่องสว่างได้ ประมาณ 55 lumens / วัตต์ ก็ เท่ากับประมาณ 1760 Lumens.
และเนื่องจากจะต้องเปลี่ยนขั้วหลอดด้วย ผมจึงซื้อ ขั้วหลอดชนิดที่ดีๆเชื่อถือได้มาหนึ่งอัน ไม่เอาความสวย เพราะบ้านเก่าแล้ว ห้องนอนก็ไม่มีแขกขึ้นมาเยี่ยม
เราลองมาชมกันครับ ทีละอย่าง
Häco E27 Lamp Holder Surface Mounting : ฮาโก้ ขั้วหลอดเกลียว E27 แบบติดลอย
นี่คือ ขั้วหลอด แบบติดลอย ที่ดีที่สุดในร้านที่ผมซื้อ (ผมไม่ได้ดูแบบที่เป็นโคมไฟ)
เพราะเป็นยี่ห้อ Häco ผมเชื่อมั่น เพราะในบ้านมีอุปกรณ์ ยี่ห้อนี้หลายชิ้น เช่น หัวปลั๊กมีไฟ (เสียบใช้ 7×24 มา 12 ปีได้แล้ว หลอดไฟมันยังสว่างอยู่), หรือ รางปลั๊กไฟ ที่ใช้เต้าแบบเดียวกับผนังบ้าน เป็นต้น
ราคาเพียง 62 บาท ครับ
ใช้วัสดุที่ดูดี ขึ้นโมลล์มาเรียบร้อยสวยงาม
เนื่องจากเป็นแบบลอย จึงมีรูน๊อตยึด หลายๆตำแหน่งแล้วแต่จะใช้
จะติดข้างผนัง วางพื้น หรือ เพดานก็ได้
ที่เห็นเป็นช่องเหมือนเลนส์หลอดไฟ นั่นว่างๆนะครับ ไม่มีหลอดไฟ คือ เค้าคงเตรียมไว้เผื่อใครต้องการหลอดไฟเพื่อแสดงให้เห็นว่ามีไฟเข้า ก็สามารถหาซื้อเฉพาะหลอดของเค้ามาติดเพิ่มเองได้
ขนาดเป็น สี่เหลี่ยมจตุรัสด้านเท่า กว้าง 8.7เซ็นติเมตร
มีน๊อตและพลุกพลาสติกมาให้ด้วย 2 ชุด
ต่อไฟง่ายๆครับ เสียบเข้ารูแล้วขันน๊อตยึดสายไฟ จบ
มาถึงหลอดไฟกันบ้าง เป็น Philips LED 14 Watts ที่ ความสว่างเทียบเท่าหลอดไส้ 100 Watts
สติกเกอร์ประหยัดไฟเบอร์ 5 น่าจะติดไว้มุมบนขวาแทน เพราะมันบัง ข้อมูลความสว่างไป
ราคา ( วันที่ 2014-04-10 ) 369 บาท ตอนผมซื้อไม่มีโปรโมชั่น.
ด้านหลัง ข้อมูลมาตรฐานต่างๆ ที่สำคัญคือ มี มอก
เค้าระบุ คุณสมบัติสำคัญๆ ในรูป คือ อายุการใช้งาน นานถึง 15,000 ชั่วโมง, ไม่มี Hg (สารปรอท), ไม่มีรังสี UV (Ultraviolet) และ IR (Infrared), Instant (ติดสว่าง 100% ทันที), ไม่รองรับสวิตช์แบบหรี่ไฟ, ใช้เฉพาะภายในที่ร่ม, ใช้กับโคนแบบปลายเปิด, ช่องใส่หลอดกว้างขนาด 4 นิ้วขึ้นไป. ทำงานได้ด้วยไฟ 170V-240V (รองรับไม่ครบทุกประเทศ)
สำหรับ อายุการใช้งาน เขาระบุที่ 15 ปี นั้นคือ คำนวณจากตัวอย่าง เปิดวันละ 2.7 ชั่วโมง 15 ปี ก็จะเท่ากับประมาณ 14,782 ชั่วโมง ปัดขึ้นเป็น 15,000 ชั่วโมง ตามป้าย นั่นแหละครับ เป็นภาษามาร์เก็ตติ้ง แต่เข้าใจได้
ผมเลือกหลอดสี Cool White 6500K ความสว่าง สูงถึง 1400 Lumens
ซึ่งนี่คือเหตุผลที่ผมซื้อหลอดนี้ เพราะ ในวันที่ไปซื้อ ไม่มี LED หลอดไหนยี่ห้อไหน ที่ความสว่างสูงกว่านี้
เพราะ หลอดนีออนกลมตามที่บอกข้างต้นคือ ประมาณ 1760 Lumens ซึ่งใช้มา 1-2 ปี ขั้วดำแล้ว ความสว่างจึงน่าจะลงมาเหลือประมาณ 1400-1500 Lumens
แต่ที่สำคัญคือ แม้ยังสว่างพอใช้อยู่ แต่แสงมันเริ่มสลัวๆ สั่นๆ บางเวลาแล้วครับ จึงควรหาเปลี่ยนใหม่
หลอด 14W 1400 Lumens นี้ เป็นหลอดที่สว่างสุดในหิ้งของร้านที่ผมซื้อ ซึ่งมียี่ห้อเดียวในวันนั้น นอกนั้นจะสูงสุดที่ 13 Watts (ประมาณ 1200 Lumens) อายุการใช้งาน 15000 ชั่วโมง
เอากล่องมาเทียบกับ 4W 7W จะเห็นว่า ขนาดใหญ่กว่ามากๆ
หลอดดวงนี้ใหญ่ครับ รูปทรงจะเป็นทรงไข่ไก่ จะไม่กลมเหมือนหลอดวัตต์น้อยๆ
เป็น เลเซ่อร์ สกรีน อักษรลงไปที่ขั้วหลอด
14W 6500K (Cool White) สว่าง 1400 Lm (Lumens)
Made in China
เทียบขนาดหลอดครับ จากซ้าย 7W / 14W / 4W ใหญ่กว่าพอสมควรเลยทีเดียว
เมื่อเทียบกันเรื่อง ความสว่าง
4W = 350 Lumens เท่ากับ 87.5 ลูเมน / 1 วัตต์
7W = 600 Lumens เท่ากับ 85.7 ลูเมน / 1 วัตต์
14W = 1400 Lumens เท่ากับ 100 ลูเมน / 1 วัตต์
แสดงว่า หลอด 14W ใช้ไฟฟ้าได้คุ้มค่าความสว่างมากกว่า ครับ
ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็ขึ้นกับว่าเราควรติดหลอดไฟให้เหมาะสมกับความสว่างที่ต้องใช้ด้วย
หลอด 7W เมื่อเสียบกับ ขั้วหลอด
หลอด 14W เมื่อเสียบกับ ขั้วหลอด
กว้าง 6.8cm สูง(รวมขั้ว) 13.1cm
อดที่จะสงสัยในเรื่องน้ำหนักไม่ได้ จึง เอามาชั่งดูครับ
เฉพาะตัวหลอด หนัก 125 กรัม
รวมแล้วก็ประมาณ 220 กรัม
อันนี้ เรื่องน้ำหนักคงไม่เกี่ยวอะไรกับประสิทธิภาพของหลอด แต่แค่สงสัยเลยถ่ายภาพมาให้ชมกัน
ภาพนี้ คือ ความสว่างของ 7W
ผมตั้งกล้อง ISO 50 (1/100) เพื่อให้เห็นวงแสงได้ ถ้าดูด้วยตาเปล่าจะสว่างกว่านี้มากๆ
ภาพนี้ คือ ของหลอด 14W ครับ ตั้ง ISO 50 (1/100) เท่ากับภาพบน จะเห็นว่า 1400Lumeens สว่างกว่า 600Lumens มากแน่นอน
การกินไฟฟ้า เราลองมาดูว่า มันคุ้มค่าตัวไหม หรือ เมื่อไหร่จะคุ้มทุนเปลี่ยน
ผมใช้ โปรแกรมฟรี EvoEnergy สำหรับคำนวณค่าไฟฟ้า โดยตั้งค่าไฟฟ้า ในโปรแกรมที่ 4.00 บาท / ยูนิต และ ใช้งานวันละ 4:30 ชั่วโมง
เรามาดู หลอด นีออน กลมที่ใช้อยู่เดิมครับ 32W กินไฟปีละ 210 บาท
จริงๆแล้ว ผมใช้ บัลลาสต์ อิเลคโทรนิคนะครับทำให้เราประหยัดค่าไฟของบัลลาสต์ไปครับ ผมเลยคำนวณที่ 32W ได้
ถ้าใครใช้ บัลลาสต์ดั้งเดิม ที่เป็นเหล็กแล้วต้องใช้สตาร์ทเตอร์ (GU10) อยู่ คุณจะต้องบอด วัตต์เข้าไปอีกประมาณ 10W จึงควรคำนวณที่ 42W
หลอด LED ดวงนี้ครับ 14W กินไฟปีละ 92 บาทครับ
ลองคำนวณดูนะครับ ว่า กี่ปีจึงจะคุ้มทุน โดยอย่าลืมเอา ค่าเปลี่ยนหลอดนีออน ที่จะเสื่อมหรือเสีย ทุกๆ 2 ปี (จากประสพการณ์ ผมใช้วันละ 4:30 ชั่วโมง)
หลอด นีออนกลม 32W ราคาประมาณ 90-100 บาท เปลี่ยนทุก 2 ปี ดังนั้น
ถ้าผมซื้อหลอดใหม่พร้อมๆกันเลย
ถ้าใช้ครบ 1 ปี
นีออน 32W = ค่าหลอด 90 + ค่าไฟ 210 บาท = 300 บาท
LED 14W = ค่าหลอด 369 + ค่าไฟ 92 บาท = 461 บาท
ถ้าใช้ครบ 2 ปี (หลอดนีออน ต้องเปลี่ยนใหม่ 1 ดวง)
นีออน 32W = ค่าหลอด (2 x 90) + ค่าไฟ (2 x 210) บาท = 600 บาท
LED 14W = ค่าหลอด (1 x 369) + ค่าไฟ (2 x 92) บาท = 553 บาท
ดังนั้น เมื่อใช้ไฟวันละ 4:30 ชั่วโมง ผมจึงจะคุ้มทุนที่คร่าวๆ 2 ปี ครับ
หมายเหตุ : หลอดนีออนกลม 1600-1700 Lumens ถ้าจะเทียบจริงๆกับ LED คงต้องเป็น LED 16-17W ซึ่งผมหาซื้อยังไม่ได้ จะกินไฟมากกว่า 14W เล็กน้อย คำนวณคร่าวๆแล้ว ก็จุดคุ้มทุนประมาณ 2 ปีอยู่ดีครับ
—-
สำหรับท่านที่อยากจะลองคำนวณดูเอง เพราะการเปิดใช้ระยะเวลาไม่เท่ากับที่ผมทำภาพตัวอย่าง ก็เชิญไปโหลดแอพ Evo Energy แอพฟรี คำนวณยูนิตและค่าไฟฟ้า สำหรับเครื่องใช้ไฟฟ้า โหลดเก็บไว้ในเครื่องได้เลยฟรี ต้องได้ใช้แน่ๆไม่เพียงแค่หลอดไฟ ตู้เย็น ทีวี แอร์ มือถือ ได้หมดครับ
สรุป :
หลอด LED ในปัจจุบัน กำลังจะมาทดแทนหลอดตะเกียบ แน่ๆ และกำลังคลืบคลานเข้ามาทดแทน หลอดนีออนแบบยาวหรือกลม ในไม่ช้านี้แล้วครับ
ข้อดี หลักๆ ของหลอดแอลอีดีก็คือ
– ประหยัดไฟฟ้ากว่า
– อายุการใช้งานยาวนานกว่ามาก
– เปิดติดและสว่าง 100% ในทันที
– แสงส่องสว่างโดยไม่มี ความร้อน (แต่ที่ขั้วตรงวงจรจะอุ่นๆ), ไม่มี อินฟราเรด และ ไม่มี รังสี อุลตร้าไวโอเล็ต (UV) ที่ทำให้ผิวหมองคล้ำ (คุณผู้หญิงที่รักษาผิวคงชอบ)
ข้อด้อย หลักๆ
– ราคายังแพงกว่า หลอดตะเกียบ พอสมควรโดยเฉพาะ หลอดวัตต์สูงๆ
– ยังหาหลอดใส่ทดแทน หลอด นีออนยาว หรือ กลม ยากอยู่ในตอนนี้
เมื่อถึงเวลาต้องเปลี่ยนหลอดไฟใหม่ ครั้งต่อๆไป ผมแนะนำมองหา ชนิด ที่เป็น แอลอีดี ไว้ครับ ยี่ห้ออะไรก็ได้ที่มี เครื่องหมาย มอก. ครับ
—–
เพิ่มเติม : 2014-12-06
เมื่อวานผมได้มีโอกาส นำไปติดตั้ง เปลี่ยนจากเดิมที่เป็นหลอด ฟลูออเรสเซ็นต์กลม 32W ที่ห้องนอนเรียบร้อยแล้วนะครับ เพิ่งเปิดใช้เมื่อคืนก็พบว่า LED 14W มันสว่างมากเกินไปมากๆครับ แสงจ้าไปหมด
เปิดใช้สักพัก ทนความสว่างมันไม่ได้ ม่านตาหดจนเมื่อยลูกตา เลยไปลองเอา 7W ที่รีวิวไปคราวก่อนมาลองใช้ดู ก็พบว่า มันสว่างใกล้เคียงกับหลอดนีออนกลมเดิม ผมจึงมานั่งทบทวนว่ามีอะไรที่ผมคิดผิดไปหรือเปล่า
จึงคาดว่า หลอด นีออน กลม 32W ที่ใช้อยู่ มันเก่าแล้ว ความสว่างที่ประมาณว่า จากใหม่ๆ 1600-1800 Lumens พอเก่าๆมันน่าจะเหลือสัก 1400-1500 Lumens มันคงไม่ใช่ละครับ เพราะขนาด LED 7W (600 Lumens) ยังสว่างพอๆกัน หมายความว่า หลอดนีออนเก่าแล้วความสว่างมันลดลงเกิน 60% แน่ๆครับ หรือไม่ก็ข้อมูล Lumens / Watt ของหลอดนีออนใหม่ๆมันไม่ตรงความเป็นจริง .
ดังนั้น ตามความคิดเห็นส่วนตัวผมคิดว่า หากคิดจะหาซื้อหลอดมาเปลี่ยนทดแทนหลอด ฟลูออเรสเซ็นต์แบบกลม หลอด LED 14W นี้มันสว่างเกินไปครับ ต้อง Lumens น้อยกว่านี้ ครับ.
เดี๋ยวคงจะไปหาซื้อหลอด LED ที่ประมาณ 800-900Lumens มาใช้ดู ซึ่งคาดว่า น่าจะสัก 8W-9W จึงน่าจะเหมาะสมกับห้องนอนของผมมากกว่า, ส่วนเจ้าหลอด 14W ดวงนี้ คงต้องไปหาตำแหน่งอื่นๆในบ้านใช้แทนตามความเหมาะสม ครับผม
—–