จากคราวที่แล้วผมได้รีวิว หม้อต้มกาแฟสด เอสเปรสโซ่ หรือ ม๊อกค่าพ๊อต/MokaPot ใบเก่าที่ใช้มานานหลายปี ซึ่งยังใช้งานได้ดี แต่ผมก็ได้พยายามเสาะหาตัวใหม่ที่มันน่าจะดีกว่าเดิมเพราะปกติทำดื่มคนเดียวถ้วยเดียว แต่หม้อใบเก่ามันสำหรับ สองถ้วย และอีกอย่างซีลยางซิลิโคนมันเริ่มเสื่อมเสียแล้ว
สาเหตุสำคัญที่ผมคาดว่า ถ้าเป็นหม้อที่มีขนาดเหมาะสมกับถ้วยเดียวจะดีกว่าหม้อแบบหลายถ้วยแล้วมาชงถ้วยเดียว ก็คือ จำนวนผงกาแฟครับ ถ้าหม้อใบใหญ่ช่องใส่ผงกาแฟจะใหญ่และกว้างตามไปด้วย ดังนั้นถ้าผมเอาหม้อใบเก่า (สำหรับ 2 ถ้วย) มาชงเพื่อถ้วยเดียวผมจึงมีสองทางเลือก คือ ใส่ผงเพียงครึ่งเดียว (ก็จะได้ กาแฟเข้มข้นลดลง) หรือ ใส่เต็มเหมือนเดิม (จะได้กาแฟความเข้มข้นที่ดี แต่เปลืองผงกาแฟ)
จากนั้นผมก็ได้สั่งซื้อมาครับ โดยหลักการในการเลือกใบใหม่ของผมคือ
- ยี่ห้ออะไรก็ได้ แต่ เป็นของที่มีแหล่งที่ผลิตแน่นอน และ มีมาตรฐานความปลอดภัยเรื่องอาหาร
- สามารถมองเห็นน้ำกาแฟได้ หรือมีวิธีดูน้ำกาแฟได้ง่าย
- ขนาดสำหรับหนึ่งถ้วยคนไทย (3 Cups) หรือประมาณ 150-200ml
ในที่สุดก็ได้มาครับ นั่นคือ ยี่ห้อ G.A.T. รุ่น Cafè Caffe – Melodia ขนาด 3 cups (1 ถ้วยคนไทย) ผลิตในอิตาลี่และจำหน่าย สหภาพยุโรป และทั่วโลก ซึ่งมีมาตรฐานที่เชื่อถือได้เรื่องความปลอดภัย
สาเหตุที่ผมต้องคำนึงถึงความปลอดภัย ไม่ใช่เพราะกลัวมันระเบิดหรอกครับ แต่ผมกลัวเรื่องสารตกค้างในวัสดุที่ใช้ ซึ่งหม้อไร้แหล่งผลิตที่มาจากเมืองจีน ซึ่งอาจจะมีหลายๆโรงงานหลายๆคุณภาพ บางโรงงานอาจจะไม่ได้มีมาตรฐานอะไรเลยก็เป็นได้ นั้นผมคิดว่าอาจจะมีความเป็นไปได้สูงที่ อลูมิเนียมหรือส่วนประกอบอื่นๆอาจจะมีพวกสารตกค้างจากการผลิตเช่น สารตะกั่ว เป็นต้น. ใบเก่าที่ผมใช้อยู่อาจจะมีก็ได้นะครับ แต่ผมไม่รู้สึกเพราะถ้ามีมันคงจะค่อยๆสะสมๆไปเรื่อยๆ และสมองเราก็อาจจะค่อยๆฉลาดขึ้นๆฉลาดขึ้น ก็เป็นได้.
ผมจะเริ่มใส่ภาพให้ชมกันไปและอธิบายตามไปนะครับ
ใบนี้ครับ ชื่อเต็มๆว่า “Melodia the espresso coffee maker by G.A.T.” – “เมโลเดี่ย เครื่องทำกาแฟ เอสเปรสโซ่”
โดยผู้ผลิต ยี่ห้อ G.A.T. ได้ลิขสิทธิ์การ ดีไซน์ โดยแบรนด์ Cafè Caffe (ผู้ผลิตเครื่องทำกาแฟสดอิตาลี่)
ทรวดทรงก็เหมือนๆกับ moka pot ทั่วๆไปครับ แต่สิ่งที่แตกต่างคือ ที่ฝาเจาะช่องพลาสติกใสเพื่อให้มองเห็นน้ำกาแฟได้
ที่ก้านมือจับ กับจุกที่ฝาหม้อ เป็น พลาสติกทนความร้อน ลายไม้, ด้านฐานเป็นเหลี่ยมหลายเหลี่ยม
คู่มือ ก็แสดงให้เห็นส่วนประกอบ และอักษรส่วนประกอบเพื่ออธิบายวิธีการทำงานและวิธีใช้ในหน้าถัดๆไป
จากในภาพหลักการทำงานก็จะเหมือน หม้อใบเก่าที่ผมเคยอธิบายการทำงานอย่างละเอียดไว้แล้วครับ
ท่านใดยังไม่เคยอ่านใบเก่า ลองไปชมกันได้ครับ
เมื่อใช้ครั้งแรก คู่มือแนะนำให้ ล้างทำความสะอาด (เค้าแนะนำ ไบคาร์บอเนต) และ ทำการต้มกาแฟทิ้งหนึ่งครั้ง
คำเตือนต่างๆครับ โดยหลักๆคือ อ่านคำแนะนำให้ครบถ้วน, ห้ามใช้ผิดวัตถุประสงค์, จับเฉพาะที่หูหรือจุกฝาหม้อ, ห้ามต้มโดยไม่มีน้ำในหม้อต้ม และใช้อะหลั่ยต่างๆของแท้จากผู้ผลิตเท่านั้น
ส่วนประกอบทั้งหมด ครับ เหมือนๆทั่วๆไปครับ
ด้านก้นหม้อต้ม ปั๊ม เครื่องหมาย Food Grade และ made in italy
ที่ฝาจะทำด้วยพลาสติกใสทนความร้อนสูง กับน๊อตที่คิดว่าเป็นสเตนเลสเอาไว้ยึดจุกกับพลาสติกใส
เริ่มประกอบครับ ใส่แผ่นกรองและซิลิโคน ยี่ห้อนี้จะเป็นซิลิโคนใสๆครับ ที่เคยเห็นส่วนใหญ่จะสีขาวขุ่น
ฐานหม้อต้มเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 8.3 เซ็นติเมตร, ตรงจุดนี้ใครจะหามาใช้คงต้องดูที่ เหล็กรองเตาที่บ้านด้วยนะครับว่าวางได้หรือไม่
ถ้าไม่ได้ ก็เตรียมหาตัวรองที่จะเห็นในภาพถัดๆไปครับ
เทียบกับรุ่นพี่ครับ ซ้ายมือ หม้อใบเก่า ขนาด 6 cups (หรือ สองถ้วยคนไทย 300ml) ซึ่งมีเส้นผ่านศูนย์กลางของหม้อต้มประมาณ 10 เซ็นติเมตร
ตามคู่มือครับ เค้าแนะนำให้ล้างด้วย ไบคาร์บอเนต ห็เลยนึกได้ว่ามีติดบ้านไว้ล้างผัก เลยเอามาผสมน้ำล้างภายในครับ
สิ่งที่ตกค้างคือ พวกคราบไขยาขัดอลูมิเนียมที่เค้าขัดเงามาระหว่างขั้นตอนการผลิตครับ
เติมน้ำเตรียมต้มครับ เติมสูงสุดคือตรงกึ่งกลางวาวล์ความดันพอดีๆ
ภาพต่อจากนี้ไปคือหลังจากที่ผมต้มกาแฟทิ้งไปแล้ว 1 ครั้งครับ
ผงกาแฟที่ผมมียังคงเหมือนเดิมครับ และเติมด้วยสองช้อนเท่าเดิม สังเกตุว่า มันจะพอดีๆกับถ้วยรองผงกาแฟครับ
ถ้าเป็นใบเก่าผงสองช้อนจะอยู่ทีระดับกลางๆเท่านั้น ซึ่งทำให้ความเข้มข้นของกาแฟที่ได้น่าจะน้อยกว่าใบนี้
นี่คือ กระดาษกรอง ฟิลเตอร์ นะครับ, Filter แบบนี้ ผมซื้อมาเอาไว้สำหรับกันผงกาแฟเล็กๆที่เล็ดลอดไปในน้ำกาแฟให้มันน้อยลง, ถ้าไม่มีไม่ต้องใช้ก็ได้ครับ
เป็นขนาดที่ซื้อไว้ใช้กับหม้อใบเก่าที่วางเข้าไปติดผงกาแฟเลย แต่มาใช้กับใบนี้ยังพอได้อยู่มันพอดีๆขอบบนเลย ผมแค่แปะกระดาษฟิลเตอร์ไว้ข้างบนแล้วก็หมุนประกอบเลยครับ
เริ่มต้มครับ สังเกตุที่ขาเตารองหม้อ มันกว้างกว่าก้นหม้อ ผมเลยเอาที่รองหม้อแบบตาข่ายสะสมความร้อน ที่มีอยู่เอามารองแทน
ตั้งไฟแบบเบาสุดครับ
ผ่านไปหนึ่งนาที ไอน้ำ เริ่มปรากฎ
ผ่านไปเกือบสองนาทีเตาชนิด อินฟาเรท เริ่มร้อนเต็มที่ แต่กาแฟก็ยังไม่ขึ้น
ผ่านไปเกือบสามนาที น้ำกาแฟเริ่มทะยอยพุ่งออกมา พร้อมกลิ่นกาแฟอย่างรุนแรง (เว่อร์ไปนิส 555)
ซึ่งก็ใช้เวลาใกล้เคียงกับใบเดิมครับ คือ สาม-สี่นาที
แต่สิ่งที่แตกต่างคือ น้ำกาแฟที่ได้เข้มข้นกว่ากันมากๆ สังเกตุได้จาก ฟองกาแฟที่พุ่งออกมา ซึ่งก็เป็นไปตามที่คาดเอาไว้ เพราะใช้หม้อขนาดพอดีหนึ่งถ้วย
แล้วก็จริงๆแล้ว ถ้าผมทำสองถ้วยกับหม้อใบเดิม ผมก็ต้องใส่กาแฟ สี่ช้อน น้ำกาแฟก็เข้มข้นใกล้เคียงกัน
ประมาณ สามนาทีเศษๆ ไอน้ำเริ่มพุ่งออกมา และหม้อใบนี้ก็มีเสียงหวีดเบาๆด้วย แสดงว่าเสร็จแล้วครับ ปริมาณที่ได้ปริ่มๆเลย
หม้อชนิดนี้ถ้าปิดฝาเราจะเทกาแฟเร็วๆไม่ได้ครับ มันจะหกตามขอบฝา ดังนั้นเราต้องเปิดฝาเท
กาแฟสด เอสเปรสโซ่ เข้มข้น หอมกรุ่น จริงๆครับ ขอตัวสักครู่
.
.
.
.
.
.
.
.
.
.
.
.
.
.
.
.
ใบนี้แหละครับ ที่จะมาประจำการอยู่ในชีวิตผมอีกหลายปีครับ
—
สรุปว่า คนที่จะซื้อ moka pot มาต้มกาแฟที่บ้าน คงต้องคำนึงถึงสองสามอย่าง สรุปแบบไม่ให้คิดมากนะครับ
1. ขนาด ควรเอาที่พอดีกับจำนวนถ้วยที่จะใช้ต่อครั้ง เพราะจะประหยัดและได้ความเข้มข้น
2. หัวเตา ควรเตรียมฐานรองเอาไว้ด้วย เพราะผมคิดว่าหลายๆคน เหล็กฐานรองหม้อที่หน้าเตาของไทยมันมักจะกว้างไป
จากการต้มครั้งนี้ หม้อใบนี้ทำออกมาสำหรับหนึ่งถ้วย โดยรีดความเข้มและความหอมของกาแฟออกมาได้ดีมากทีเดียวครับ
มันอาจจะมีปัจจัยหลายอย่างเช่น ขนาดรูกรอง, ขนาดท่อ, ขนาดปากท่อ, ความแรงของไฟที่ใช้ต้ม ด้วยเป็นต้น
อีกอย่าง หม้อ moka pot นี้ ของมียี่ห้อกับไม่มียี่ห้อ ของถูกกับของแพง ชงกาแฟออกมาได้รสชาติต่างกันไหม ของแพงอร่อยกว่าไหม,
ผมขอตอบตามความเห็นส่วนตัวจากสองใบนี้ ครับ ว่า ไม่ต่างกันเลย (ถ้าใส่ผงพอดีๆกับขนาดหม้อ) ไม่จำเป็นต้องของแพงก็อร่อยได้เหมือนกัน
ความอร่อย ความหอม ผมว่าขึ้นกับ ผงกาแฟ เกิน 50% ขึ้นไปครับ, ให้หม้อดีขนาดไหน เครื่องดีขนาดไหน ไปเอากาแฟที่ไม่ถูกใจมาชง ให้ชงอย่างไรก็ไม่อร่อย
บางคนชอบกาแฟกลิ่นแนวเวียดนาม (ผมว่ามันมีกลิ่นเหมือนผสมพลาสติกๆ) ซึ่งผมไม่ชอบ เอามาชงออกมาอย่างไรก็ไม่อร่อยสำหรับผม
แต่สิ่งที่ต่างกันคือสิ่งที่สัมผัสไม่ได้ครับ คือ เรื่องความปลอดภัย, หม้อที่มีแหล่งผลิตและจำหน่ายชัดเจน เช่นใบนี้ผมคิดว่าเชื่อมั่นได้ในความปลอดภัย โดยเฉพาะสารตกค้างต่างๆ
โดยเฉพาะใบนี้มีการ การันตี ว่าผ่านมาตรฐานและใช้วัสดุที่ปลอดภัยกับการทำอาหารและของกินครับ
คุณไม่ต้องกังวลว่า ต้มดื่มๆไปทุกวันแล้วสักวันหนึ่งก็กลายเป็นอัฉริยะไปซะงั๊น
การทำความสะอาดง่ายครับ ส่วนตัวผมแล้ว หลังจากที่เทกาแฟไปแล้ว เพราะหม้อจะยังร้อนมากจะล้างไม่ได้ ให้เราก็เติมน้ำส่วนบนจนเต็มแล้วเททิ้ง แล้วเติมให้เต็มอีกครั้งแล้ววางทิ้งไว้เพื่อไล่ผงกาแฟทิ้งมันจะได้ไม่ไปเกาะเป็นคราบดำๆขอบหม้อ พอหลังดื่มกาแฟเสร็จหม้อจะเย็นลงจนล้างได้ จากนั้นแยกชิ้นส่วนแล้ว ใช้น้ำยาล้างจานกับฟองน้ำลูบๆพอครับ ห้ามใช้สก๊อตไบร์ทหรือฝอยขัดหม้อครับ
หวังว่าการรีวิวนี้ก็คงจะเป็นประโยชน์กับท่านที่สนใจ และชอบดื่มกาแฟสดเข้มข้น โดยไม่จำเป็นต้องซื้อเครื่องแพงๆนะครับ.
——
[เพิ่มเติม]
วันเวลาผ่านพ้นไปไวเหมือนโกหก, ผมรีวิวใบนี้ไปปีกว่าแล้ว แต่ผมกลับมาขอเพิ่มเติมข้อมูลคือ
สำหรับผู้สนใจ Moka Pot ยี่ห้อ G.A.T. นี้ ผมผ่านไปเห็นที่ เดอะมอลล์ แผนกเครื่องครัว มีมากมายหลายรุ่น หลายขนาด ราคาสมเหตุผลครับ
เทียบกับที่ผมซื้อมา ถือว่า เดอะมอลล์ขายถูกเลยทีเดียวครับ ลองไปแวะดูกันนะครับ ^ ^
[เพิ่มเติม อีกครับ]
เนื่องจากน้องสาวผมต้องไปทำงานที่ อิตาลี่ เลยฝากซื้อ อะหลั่ยมาไว้ครับ ราคา 2.5 ยูโร
เป็นยางขอบ 1 แพค มี ยาง 2 ชิ้น + แผ่นตะแกรง 1 ชิ้นครับ ตามภาพ
ของแท้ ต้องแพคแบบนี้ครับ
[เพิ่มเติมอีกนิด]
ผมได้เพิ่มบทความรีวิว Mokapot รุ่นพิเศษอีกใบนึง รวมเป็น 3 ใบ แล้วนะครับ
เชิญชม บทความ รีวิว หม้อต้มกาแฟ ม๊อคค่าพ๊อท
—–
เห็นรีวิวแล้ว น่าสนใจดีครับ อยากทราบว่าจะหาซื้อได้ที่ไหน ผมอยู่ต่างจังหวัด ครับ ขอคำแนะนำด้วยครับ
ตัวนี้ผมสั่งจากเวปนะครับ ทางเวปผู้จำหน่ายแจ้งมาว่า เป็นใบสุดท้าย แล้วครับ จึงไม่มีรุ่นนี้จำหน่ายแล้ว มีแต่รุ่นอื่นๆ ลองไปเข้าเวป ดอยช้างค๊อฟฟี่ ดูนะครับ
แนะนำให้ซื้อขนาดที่เหมาะกับจะทำทานเองนะครับ จะได้ความเข้มข้นที่เหมาะสม
อย่าลืมว่า ขนาด 1 cup espresso ฝรั่ง เค้าหมายถึง ประมาณ 50ml เท่านั้น
คนไทย 1 ถ้วย (ประมาณ 150ml ก็ต้องซื้อประมาณ 3-4 cups espresso ครับผม
ผมว่ามันขี้นอยู่กับการออกแบบเครื่องชงนะครับ เพราะเครื่องชงกาแฟแบบโมก้า ผมว่าเป็นบรรพบุรุษของเครื่องชงเอสเปรสโซ่แบบใช้ไฟฟ้า น้ำกาแฟที่ได้จึงเอาไปเทียบกับน้ำกาแฟเอสเปรสโซ่ ซึ่งถือว่าเป็นสุดยอดของวิธีการชง (อันนี้ผมคิดเองนะ) ซึึ่งน้ำกาแฟจากโมก้า จะคล้ายกับน้ำกาแฟจากเครื่องชงเอสเปรสโซมาก แต่ผมว่าไม่เหมือนอ่าครับ
ด้วยปัจจัยในการชงที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะความดันที่ใช้ในการชงกาแฟ
แต่จะได้น้ำกาแฟที่มีความเข้มข้นมากกว่าการชงแบบกดหรือแบบดริป
หรือพูดง่ายๆก็คือมีรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ของการแบบโมก้าโดยเฉพาะ(อันนี้ผมคิดเองนะ) แต่ก็มีบางยี่ห้อที่พยายามทำให้คล้ายเอสเปรสโซ่มากที่สุด โดยการเพิ่มตุ้มน้ำหนักที่ปลายท่อออกของกาแฟ เพื่อให้น้ำมีแรงดันเพิ่มขึ้นจนสามารถยกตุ้มน้ำหนักนั้นได้ น้ำกาแฟก็จะมีความเข้มข้นที่เพิ่มขึ้น ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้ขับรสชาติของกาแฟออกมาได้เพิ่มขึ้นอีก ซึ่งก็กลายเป็นคาแร็กเตอร์ของเครื่องชงแบบนั้นๆไป
ป.ล.ผมเห็นเครื่องชงแบบที่ผมว่านี้เพียงแค่ยี่ห้อเดียวครับและผมไม่ได้โฆษณาให้เขาด้วยนะ แต่ผมเห็นว่าไอ้ตัวนี้แหละที่ชงกาแฟออกมาแล้วใกล้เคียงเอสเปสโซ่สุดๆ สำหรับผู้ที่ชื่นชอบเอสเปรสโซ่ แต่สู้ราคาเครื่องชงแบบไฟฟ้าไม่ไหว….ขอบคุณครับ
ขอบคุณมากๆครับ ที่ได้มาแชร์ความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์กัน
จะได้เป็นข้อมูลให้ผู้ที่สนใจหม้อต้มชนิดนี้ครับ
ยินดีครับ