สวัสดี ครับผม ห่างหายไปนานเพราะไม่มีเวลามานั่งเขียนบทความครับ แต่วันนี้คิดว่า การรีวิวชิ้นนี้คงจะถูกใจคุณผู้อ่านหลายๆคนที่กำลังสนใจ หม้อต้มกาแฟ ตั้งเตา (Stove Top) ที่เริ่มนิยมฮิตติดลมบนในขณะนี้
ผมเป็นผู้ใช้ ม๊อคค่าพ๊อต ตัวจริงเสียงจริงครับ เป็นผู้ใช้อย่างเดียว ไม่ได้ซื้อมาเพื่อสะสม หรือเพื่อขาย แต่ ซื้อมาใช้เองล้วนๆ ต้มทานเองเกือบทุกวัน วันละ 1 แก้ว เมื่อปีที่แล้วผมทำรีวิวไป สองชิ้น คือ Moka Pot ของจีน (6 Cups) ที่ใช้มานานกว่า 4 ปี แล้วก็เปลี่ยนมาเป็นของ Moka pot อิตาลี่ (3 Cups) แท้ๆ อีกใบนึงก็ใช้มา 1 ปีกว่าได้ครับ. แต่เมื่อสองเดือนก่อน น้องสาวผมไปทำงานที่ เมือง มิลาน อิตาลี่ และน้องผมก็จำได้ว่าผมชอบดื่มกาแฟสดจาก หม้อต้ม เวลาเดินไปไหน ก็มักจะเมสเสจมาถามว่าจะเอาไหม ลดราคาอยู่ อะไรแบบนั้น. จริงๆไม่ได้รีบเปลี่ยนครับที่ใช้อยู่มันก็ยังใช้ได้ดีมาก แต่พอได้ยินราคาส่งตรงจากอิตาลี่ เลยทนไม่ไหว ต้องรีบไปค้นในเน็ต หารุ่นที่น่าจะดีกว่าเดิม พิเศษกว่า หรือแตกต่างจากเดิมๆ (ไม่งั้นถ้าซื้อเหมือนเดิมก็ไม่รู้จะซื้อมาเก็บไว้ทำไมเพราะหม้อม๊อคค่ามันทนทานมากๆครับใบนึงใช้กันนานจนลืม) จนมาได้รุ่นที่กำลังน่าสนใจที่สุดในหมู่คนต้มกาแฟด้วย moka pot นี่นะครับ โดยในปัจจุบันรุ่นที่แปลกและแตกต่างจะมีเป็นรุ่นที่สามารถทำ ฟองนม แบบ Cappuccino ได้ และแบบที่ทำ Creama แบบ Espresso ได้, ผมเลือกแบบ espresso creama ครับเพราะไม่นิยมตุนนมสดในตู้เย็น.
ก่อนอื่นขอออกตัวก่อนว่า ผมไม่ได้บอกว่าผมเป็นเซียนกาแฟและไม่ใช่เพื่อการค้านะครับ ดังนั้นผมจึงเขียนรีวิวแบบความคิดเห็นส่วนตัวล้วนๆ จากคนที่ทานกาแฟรสชาติแบบปกติๆทั่วไป ศัพท์ ภาษา ทางเทคนิค ก็เป็นแบบผู้ใช้ทั่วไปครับไม่มีอะไรพิเศษ ไม่ใช่แบบเซียนหรือบาริสต้า ดังนั้นหากมีเซียนเข้ามาอ่านบทความนี้ หากพบข้อผิดพลาดประการใด กรุณาช่วยชี้แนะครับ จะปรับปรุงบทความนี้ให้ถูกต้องและดียิ่งขึ้นครับ.
เดี๋ยวเรามาลองดูกันว่า moka pot ใบนี้ ดีไหม ดีสม ชื่อหรือไม่ ดีสมราคาค่าตัว หรือไม่
Mokapot ยี่ห้อ Bialetti รุ่น Le Speciali Brikka หรือ ยี่ห้อ เบียเล็ตติ้ รุ่น พิเศษ บริคก้า (บริค-ค่า)
แบรนด์ Bialetti (เบีย-เล็ต-ติ้ / ชาวอิตาเลี่ยน ออกเสียงว่า บิ-อา-เลท-ถิ) ถือได้ว่าเป็นต้นแบบของ หม้อต้มกาแฟชนิดนี้ของอิตาลี่เลยครับ แบรนด์นี้โด่งดังมาเนิ่นนาน
โดย Alfonso Bialetti (1888–1970) วิศวกรชาวอิตาลี่ ที่ได้ไปซื้อต้นแบบนวัตกรรมหม้อต้ม จาก Luigi De Ponti มาทำจำหน่าย
จึงเรียกได้ว่าเป็นยี่ห้อแรกที่ทำหม้อชนิดนี้ครับ
ออกแบบมาเพื่อทำ กาแฟสดแบบ Espresso แบบมี ครีมม่า ขนาด 4 cups
เขียนเน้นไว้ว่า Cafeteria Espresso Maker หรือ เครื่องทำเอสเปรสโซ่แบบในร้านกาแฟ
หลายคนคงสงสัยว่าอะไรคือครีมม่า ก็คือในภาพเลยครับต้มออกมาแล้วจะเห็นว่ากาแฟมีฟองฟูฟ่อง
ข้างกล่อง ก็โฆษณาแบบว่า ต้มออกมาแล้วกาแฟจะมีครีม ภาษาบาริสต้าเรียกว่า ครีมม่า
เหมือนกับที่คุณไปสั่ง espresso ที่มีฟองละเอียดๆ ที่ออกมาจากเครื่องอัดแรงดันในร้านกาแฟ
ไม่เหมือนกับ คาปูชิโน่ (cappuccino) นะครับ อันนั้นคือใช้ลมร้อนเป่าตีนมสดจนขึ้นฟองแล้วเอามาโบ๊ะหน้า
อีกด้าน ภาษาอิตาเลี่ยน อ่านไม่ออกครับ เอาเป็นว่าประมาณโฆษณาจุดเด่นของหม้อใบนี้
ด้านใต้ เป็นแบบในภาพครับ (ผมไม่แน่ใจว่าผมจะถ่ายมาทำไม ^_^’)
ในกล่องมีแค่ หม้อต้ม กับ เอกสารแผ่นนึง
แหม่ หม้อของใหม่ๆมันสวยงดงามจริงๆครับ มีรูที่ด้านบน เพื่อให้เห็นสิ่งที่แตกต่างกว่าหม้ออื่นๆครับ
แต่ใจเย็นๆก่อน เราต้องอ่านคู่มือครับ ไม่ว่าได้อะไรมา คู่มือเป็นสิ่งสำคัญที่สุดอย่างนึง
ถ้าใช้โดยไม่มีคู่มือ เหมือน ขี่มอร์เตอร์ไซค์ โดยไม่รู้ว่าเบรคอยู่ตรงไหน
นี่ครับ วิธีใช้ โดยรวมๆก็เหมือนกับหม้อใบอื่นๆที่ผมใช้อยู่แล้ว แต่ผมจะเขียนให้อ่านเผื่อใครขี้เกียจเพ่งในภาพนะครับ
(ในภาพมันข้ามขั้นตอนบางอย่างไปนิดนึง ผมเลยขออธิบายวิธีใช้ตามที่ผมใช้แล้วกันครับ)
1. เติมน้ำในส่วนล่าง (หม้อต้ม) ปกติทุกรุ่นเติมให้ความสูงของน้ำอยู่ตรง ประมาณ กึ่งกลางเซฟตี้วาวล์ แต่ว่ารุ่น พิเศษ Brikka นี้ ที่หม้อส่วนบนมีเครื่องหมายตวงน้ำอยู่ คือเครื่องหมาย H2O ให้ตวงน้ำสูงเท่า H2O แล้วเทลงส่วนหม้อต้มได้เลยครับ มันจะพอดีๆ
2. ใส่ Filter แล้วเติมผงกาแฟบดแล้ว ในฟิลเตอร์ แต่ไม่ต้องกดผงนะครับ แค่พอเต็ม แล้วปัดเศษกาแฟออกจากขอบให้หมด
3. หมุนส่วนบน (กา) และล่าง (หม้อต้ม) ให้แน่น
4. ตั้งไฟ แล้วรอเพียงประมาณ 2-3 นาที กาแฟจะพุ่งขึ้นด้านบน
5. ข้อสำคัญ สำหรับ รุ่น Brikka ใบนี้ :
5.1 เมื่อกาแฟเริ่มพุ่งขึ้นมาจะเกิดเสียงดัง ซึ่งเป็นปกติของรุ่นนี้
5.2 เมื่อเห็นว่ามีน้ำกาแฟพุ่งออกมาแล้วนับในใจ ประมาณ 3-4 วินาที ให้ยกออกจากเตา แล้วเทลงถ้วยเพื่อเสริฟท์ทันที เพราะถ้าปล่อยไว้ ฟองครีมจะหายหมด
หน้านี้ ก็เป็นการอธิบายการทำงาน ชิ้นส่วนต่างๆ และ ข้อควรระวังในการใช้งานครับ
ลองอ่านๆคร่าวๆตามภาพดูนะครับ
หม้อใบนี้ ขนาด 4 cups ครับ, ประมาณ ถ้วยกว่าๆของคนไทย มองด้านข้างก็ดูเหมือนแบบธรรมดาๆครับ
ผิวอลูมิเนียมหนา แต่ในภาพที่จะเห็นต่อๆไปที่จะเริ่มซูมเข้าไป คุณจะเห็นเนื้ออลูมิเนียมเป็นริ้วรอย ทั้งๆที่ยังของใหม่เอี่ยมแกะกล่อง
ก็เพราะธรรมชาติของอลูมิเนียมมันเป็นแบบนี้ครับ คุณไม่มีทางหาที่มันเนียนแบบไร้ที่ติได้ครับ
โลโก้ แม้สคอต ของ ยี่ห้อ Bialetti นี้ จะเป็น ตัวการ์ตูน อิตาเลี่ยน ยกมือขวาชูนิ้ว 1 นิ้ว
เจ้าของแบรนด์ (อัลฟรองซัว เบียเล็ตติ) เค้าออกแบบไว้ เพื่อเป็นการบอกว่า ” สั่ง กาแฟถ้วยนึง ”
สกรีน ชื่อรุ่น Brikka ไว้ที่ตรงกลาง
สำหรับเซฟตี้วาล์ว ป้องกันแรงดันสูงเกินไปตัวนี้ ก็ดูแปลกๆไม่เหมือนรุ่นอื่นๆครับ คือมันใหญ่กว่าทรงกระบอก และ ไม่ได้เป็น ลูกปืนเหล็ก (Bearing Ball) ตรงกลางเหมือนรุ่นอื่นๆ
คิดว่าอาจจะทนแรงดันสูงกว่ารุ่นอื่นๆ เพราะต้องกักแรงดันไว้ทำ ครีมม่า กับฝาวาวล์ตัวบน
สิ่งที่แตกต่างให้เราเห็นชัดเจนคือ ฝาเจาะรูไว้ให้เราเห็นเวลากาแฟพุ่งขึ้นมา
และตรงยอดกลางหม้อจะมีคล้ายๆฝาขวดน้ำเป็นโลหะติดอยู่
โดยภาพรวม ก็เหมือน mokapot ทั่วๆไปครับ
ในตัวหม้อ มีวาวล์ และมีระดับบอกคำว่า H2O อยู่ด้วย ไม่แน่ใจว่าทำเอาไว้เพื่ออะไร อาจจะเอาไว้บอกระดับน้ำกาแฟก็เป็นไปได้
จากการค้นคว้า ก็พบว่า เครื่องหมาย H2O (ไฮโดรเจนไดอ๊อกไซด์ หรือ น้ำเปล่า) นั้น เอาไว้เป็นที่ตวงน้ำครับ
หมายความว่า เติมน้ำให้สูงเท่า H2O แล้วเทลงหม้อต้มส่วนล่างเลยครับ ไม่ต้องไปเล็งว่าให้ถึงระดับ safty valve ข้างล่างเหมือนรุ่นดั้งเดิม
ตัวหม้อทั้งใบเป็น อลูมิเนียมหล่อขึ้นรูป แต่ตรงวาวล์ตัวนี้น่าจะเป็น สแตนเลส
ตัวนี้มันเหมือนวางเอาไว้ปิดรูทางกาแฟเฉยๆ เรายกขยับขึ้นลงได้นิดนึง ประมาณ 2-3 มิล
ทำหน้าที่เป็นเสมือนฝาถ่วงน้ำหนักเอาไว้ ให้แรงดันกาแฟสูงขึ้นจนน้ำกาแฟดันฝาขึ้นมาแล้วพุ่งออกมา
ไอ้ขณะที่น้ำกาแฟมันพุ่งฝามันก็เหมือนกับ สั่นสะเทือนยกขึ้นๆลงๆ เดี๋ยวเปิดเดี๋ยวปิดน้ำกาแฟเลยเกิดเป็นฟองครีมม่า นั้นเองครับ
เนื่องจาก ที่ฝาหม้อเป็นรูตรงกลาง จึงทำที่จับฝาหม้อมาอยู่ด้านข้างตรงกับมือจับ
ก้นหม้อครับ
เราจะถอดมาได้แค่สามชิ้นนี้ครับ ทำความสะอาดง่าย
ยางของฟิลเตอร์ตัวบน แรกๆมาจะใสๆแบบเนี้ย ใช้ไปนานๆมันก็จะดำสีกาแฟ
กระบอกช่องใส่กาแฟจะลึกๆ ดูเหมือนจะต้องใส่กาแฟเยอะ
ผมมือซนเลยถอดวาวล์ออกมาดูครับ เพราเห็นว่ามันขยับขึ้นลงได้ แล้วพอหมุนๆมันก็ถอดได้ง่ายๆครับ
ด้านใน จะเป็นแผ่นยางนิ่มๆ วัสดุคล้ายๆยางรถยนต์ อะไรประมาณนั้นครับ
ยอดด้านในครับ มีแท่นรองวาวล์ แล้วก็แหวนประกบของตัววาวล์ ซึ่งถอดไม่ได้ครับ
(แก้ไขเพิ่มเติม : หลังจากใช้มาระยะหนึ่ง สังเกตุพบว่า ยอดสี่เหลี่ยมแท่นรองวาวล์ นี่มันคนละชิ้นกับตัวท่อครับ น่าจะหมุนถอดออกมาได้ แต่ผมไม่กล้าถอดเพราะมันแน่นมากกลัวเสียหาย และไม่น่าจะมีประโยชน์ที่จะถอด)
มาเทียบกันกับตัวเก่าๆของผมครับ ตัวใหญ่ขวาของจีนตัวนั้น 6 cups (300ml) ครับ ส่วนตัวเล็ก 3 cups (150ml)
ก็ยังงงอยู่ว่า Brikka ขนาดแค่ 4 cups (200ml) แต่เรือนร่างมันใหญ่พอๆกับ 6 cups(300ml) เลยทีเดียว ครับ
ก็อาจจะเป็นเพราะการออกแบบเพื่อสร้างฟองเลยต้องใช้เนื้อที่
ขออ้างอิงย้อนกลับไปก่อน เผื่อคนไม่รู้นะครับ
1 cup ฝรั่ง = 50 มิลลิลิตร
1 cup ของคนไทยทานเองที่บ้าน ก็ทานกันประมาณ 150 มิลลิลิตร ทานที่ร้านแบบกาแฟร้อน ก็ประมาณ 100ml
ดังนั้น 1 cup ไทย = ประมาณ 3 cups ของฝรั่ง ครับ
เวลาซื้อ ถ้าสำหรับต้มทานประจำ 2 ถ้วยคนไทย ก็ซื้อแบบ 6 cups นะครับ
ใครคิดจะซื้อ mokapot สิ่งหนึ่งที่ต้องคำนึงถึงคือ แท่นรองเตาจะต้องรองหม้อขนาดเล็กแบบนี้ได้ด้วยนะครับ
เช่นตัวนี้ 10 cm ให้ไปวัดขนาดขารองที่หัวเตาเราด้วยครับ ถ้าแท่นรองเตาเราใหญ่ไป วางหม้อไม่ได้
เราก็ต้องหาซื้อ Adapter ขารองมาด้วยนะครับ ที่ร้านเตา จะมีขายครับ
เอาหล่ะครับ รีวิวภายนอกเสร็จลงแล้ว เราจะเริ่มมารีวิวตอนทำกาแฟกันสักทีครับ ถ่ายภาพติดผู้ชมมาด้วย
ผงกาแฟครับ ผมเลือกแบบบดละเอียดแต่ไม่ต้องละเอียดมาก ประมาณว่า พวกกาแฟบดแพ๊คมาพวกนั้นแหละได้หมด
ซ้ายมือ คือ ผงกาแฟหิ้วจากอิตาลี่มาพร้อมกับหม้อครับ เมืองไทยก็น่าจะมีขาย
ขวามือ ผงกาแฟซื้อจากห้าง นำเข้ามาจากญี่ปุ่น
มาถึงตรงนี้แล้วขอบอกเลยว่า กาแฟจากเครื่องชนิดไหนก็ตาม ความอร่อยความหอมจะขึ้นอยู่กับ ผงกาแฟ เกิน 50-70% เลยครับ
ตัวเครื่องเพียงช่วยรีดความหอม ความเข้มข้น จากเม็ดออกมาได้ดีแค่ไหน
ครั้งแรก ล้างหม้อเสร็จ ก็ต้มน้ำเปล่าทิ้งก่อน 2 ครั้งครับ เผื่อมีอะไรติดอยู่แล้วเรามองไม่เห็น
เติมน้ำ ให้ประมาณเท่ากับระดับของวาวล์ เหมือนในภาพ นะครับ หรือตวงจากตัวกาส่วนบน ให้ถึงระดับ H2O
ปิดท่อนบน แล้วตั้งไฟเลยครับ สังเกตุว่า เตาแก๊สของผมตัวนี้ เป็น เตาแก๊ส รุ่นมีสามหัว (บทความ รีวิว เตาแก๊ส) โดยหัวตรงกลางเป็นหัวขนาดเล็กครับ
เตาตั้งโต๊ะแบบนี้หาซื้อยากหน่อยไม่ค่อยมีทำมาขาย แต่ผมตั้งใจควานหาซื้อมา เพราะมันน่าจะออกแบบมาให้ใช้ พอดีๆกับ moka pot ตรงๆเลยนี่แหละครับ
ใช้เวลาประมาณ 2-3 นาที น้ำก็พุ่งออกมาครับ ผมต้มน้ำเปล่าแบบนี้ 2 รอบครับ
คราวนี้ก็ลองกับผงกาแฟครับ ผมลองใส่แค่ ครึ่งนึง แล้วใส่ filter กันผงลอยขึ้นมาไว้ด้วย
ใครไม่มี กรองกระดาษ ก็ไม่ต้องใช้ครับ เพราะผงกาแฟที่หลุดรอดขึ้นมาจากหม้อแบบนี้ มันไม่ได้เยอะมาก แค่เวลาเทใส่แก้วก็เทช้าๆผงจะได้ไม่ติดไปในแก้วครับ
2 นาทีกว่าๆ กาแฟก็เริ่มออกมาครับ พร้อมมีเสียงฟู่ๆ
เสียงฟู่ปุ๊ป เริ่มมีฟองแล้วครับ เสียงก็จะดังขึ้นอืก ปกติรุ่นอื่นๆ จะไม่มีเสียงและฟองจะน้อยกว่านี้
ไม่ถึง 5 วินาที เสียงดังปุดๆ ฟองเริ่มเยอะจนไม่เห็นน้ำกาแฟแล้ว กลิ่นกาแฟหอมฉุยโชยขึ้นมาอย่างแรง หอมกลุ่นไปทั้งครัว
จนแมวผู้ชมสองตัว วิ่งเข้ามายืดคอดมๆ เลยทีเดียวครับ
ในใจนึก โหย ตูจะได้ลิ้มกาแฟพร้อมฟองโรยหน้าหอมๆเข้ม เหมือนในโฆษณากาแฟ แน่ๆแล้วตรู ^^
รอจนกาแฟพุ่งขึ้นมาหมด กลายเป็นแบบที่เห็นในภาพครับ แป่ว!?!?!
ฟองมันมาไวไปไวจริงๆครับ ฟองหายเกลี้ยง
กำ เหมือนกาแฟปกติเลย วันนี้ ก็คงต้องแค่นี้ละ เฮ้อ -_-‘
จริงๆแล้ว ในรอบแรก ผมอ่านคู่มือผ่านๆครับ เลยกลับไปอ่านคู่มือใหม่ อย่างละเอียดแล้ว
วันต่อมาก็มาลองทำตาม ข้อสำคัญ ข้อที่ 5 (ตามด้านบนที่ผมเขียนขั้นตอนไว้ให้ผู้อ่านครับ)
รอบนี้ผมจ้องเลยครับ เมื่อกาแฟเริ่มออกมา กาแฟพุ่งดันยกฝาสั่นๆ เสียงดังเชียว
ให้นับ ในใจ 3-5 วินาที แล้ว ปิดไฟ หรือ ยกออกจากเตา
พอ 4-5 วิมันเป็นแบบนี้ แล้ว ผมก็ปิดเตา
ฟองมันก็มากขึ้นๆ เสียงก็ดังขึ้นๆ
รอเพื่อจะได้รู้ว่ามันจะหยุดประมาณไหน ก็คือประมาณนี้ครับ ฟองเยอะดี
จริงๆแล้วคู่มือให้ พอกาแฟเริ่มพุ่ง นับ 3-4 วินาทีแล้วยกออกมาเทเสริฟท์เลย แต่ผมต้องถ่ายภาพด้วยเลยใช้วิธีปิดเตาดู ก็ได้ผลครับ
ถ้าทำจนชำนาญก็คงจะได้รูปฟองสวยๆแบบที่ร้านตามเว็ปเค้าโพสโชว์กันครับ
รสชาติกาแฟที่ออกมา เหมือนกันกับหม้อใบเดิมที่ดื่มไปเมื่อวาน ครับ เพราะผงกาแฟเดียวกัน แต่เมื่อยังมีฟองอยู่ทำให้ความรู้สึกว่า อร่อยกลมกล่อมกว่านิดนึงครับ ^^
วิธีการล้างของผม ก็ไม่มีอะไรมากมายครับ เมื่อต้มกาแฟเสร็จแล้ว ยังไม่ต้องรีบถอดชิ้นส่วนเพราะมันยังร้อน ให้ใส่น้ำเปล่าล้างกาแฟแล้วเททิ้งไป แล้วเติมน้ำให้เต็มอีกครั้งแล้วปล่อยทิ้งไว้แบบในภาพนี้ครับ ยังไม่ต้องหมุนออกไม่ต้องรีบครับ น้ำเปล่าช่วยลดคราบกาแฟเกาะผิวหม้อ
หลังทานกาแฟเสร็จ ก็มาถอดชิ้นส่วนล้างทำความสะอาดเหมือนหม้อทั่วๆไปครับ ผมแนะนำว่าใช้แค่น้ำสะอาดเขย่าๆแล้วเททิ้ง หรืออาจจะแค่ฟองน้ำลูบๆก็พอครับ ไม่ต้องสะอาดมาก และห้ามใช้ฝอยขัดหม้อ หรือพวกสก๊อตไบร์ท เพราะอลูมิเนียมถ้าไม่ทำอะไรมันผิวจะเรียบเป็นมันครับ คราบกาแฟมันเกาะยากหน่อย
สำหรับ รุ่น brikka นี้ บางครั้งเมื่อมันเย็นตัวลง อากาศมันเกิดหดตัวแล้วดูดอยู่ในส่วนหม้อต้มครับ เพราะด้านบนมันมีวาวล์ปิดอยู่ ทำให้เราอาจจะหมุนส่วนกาไม่ค่อยออกหรือหมุนยาก
เนื่องจากในตอนต้มกามันร้อนมาก น้ำและอากาศขยายตัวดันน้ำกาแฟออกมา พอเย็นตัวอากาศภายในหดตัว และเพราะมีวาวล์ตุ้มน้ำหนักข้างบนปิดรูไว้ จึงเกิดแรงดูดเหมือนสูญญากาศภายใน
เราก็เพียงแค่ดึงวาวล์ขึ้นมานิดนึงครับให้อากาศข้างนอกเข้าไป แรงดูดมันหายไป ทำให้เราหมุนกาออกได้ปกติครับ
—–
สรุปนะครับ
– สามารถชงกาแฟแบบมี Creama ได้จริงๆ
– เป็นเครื่องทำกาแฟแบบ Espresso ที่ใช้ง่าย ไม่ต้องใช้ไฟฟ้า
– ทำความสะอาดง่าย
– พกพาไปนอกสถานที่ง่าย เพราะต้องการแค่เตาไฟ
– วัสดุสิ้นเปลือง น้อย (เพียงแค่ยางของหม้อ ซึ่งใช้ได้นานจนลืม) ไม่ต้องดูแลรักษาตามระยะเวลามากมายเหมือนใช้เครื่องชง
– ราคาถูกเมื่อเทียบกับ เครื่องชง แต่รุ่น brikka นี้จะแพงกว่ารุ่นธรรมดารุ่นอื่นๆพอสมควร
หลายคนอาจจะตัดสินใจอยู่ว่า จะใช้ mokapot หรือ เครื่องชง espresso แบบไฟฟ้า ดี ผมจะตอบแบบฟันธงไม่ได้ครับ ผมเป็นคนชงแก้วเดียวต่อวันเท่านั้น แม้ว่าผมก็เคยมีเครื่องชงไฟฟ้าแบบอัดแรงดันอยู่
ขอสรุปแบบรวมๆเอาว่า เครื่องชงไฟฟ้า ผลที่ชงออกมาค่อนข้างเที่ยงตรงครับ ถ้าเครื่องดีๆไม่มีชิ้นส่วนผิดปกติ มันก็รีดกาแฟออกมาได้ดีเหมือนเดิมทุกๆครั้งที่ทำ ส่วน mokapot มันแล้วแต่เราครับ เช่น เปิดไฟอ่อนไฟแรง น้ำเย็นก่อนต้มไม่เท่ากันในแต่ละครั้ง. แต่ข้อแตกต่างชัดๆคือ เครื่องชงแบบไฟฟ้า คุณจะต้องดูแลรักษา และทำความสะอาด ชิ้นส่วนอุปกรณ์ต่างๆอย่างสม่ำเสมอ ต้องวอร์มเครื่อง บางรุ่นถึงกับต้องรอต้มน้ำเปล่าทิ้ง 1 รอบ เพื่อความร้อนจะได้ถึงระดับ ควรเลือกซื้อยี่ห้อที่เป็นแบรนด์ดังเชื่อถือได้ ไม่หายไปจากตลาดง่ายๆ เหมือนซื้อรถครับซื้อรุ่นตลาด อะหลั่ยจะมีเยอะหาง่าย และมีตลอด ครับ. ส่วน mokapot มันไม่ต้องอะไรมากครับ ซื้อมาใช้เลยใช้กันนานจนลืม ถ้าไม่ลืมแบบเปิดไฟตั้งทิ้งไว้จนแห้งหรือไหม้.
เซียนกาแฟ คอกาแฟ แบบครบสูตรคงบอกว่า mokapot ไม่ใช่ espresso, แต่สำหรับผมแล้ว แม้มันไม่ใช่ espresso แท้ๆ แต่มันได้ฟิลลิ่งเอสเพรสโซ่เดียวกันครับ แหะๆ
ความอร่อย ความหอม ความเข้ม อยู่ที่ เมล็ดกาแฟที่เราซื้อมาทำ ส่วนความเข้มข้นอยู่ที่เราเติมกาแฟในหม้อนี้ครับ จะทำให้ได้พอดีกับความเป็นตัวเรา ก็ต้องสังเกตุและทดลองใช้ไปสักพัก แล้วเราก็จะรู้ครับ
และผมบอกได้ตามความคิดเห็นส่วนตัว ผงกาแฟ ราคาแพงมากๆ กับราคาปานกลาง ผมแยกไม่ออกครับ บางทียี่ห้อเดียวกันซื้อต่างเวลากัน กลิ่นมันไม่เหมือนกัน บางห่อซื้อมาห่อใหญ่มันหอมถูกจมูกแค่สองสามถ้วยแรก แต่ละยี่ห้อ แต่ละล๊อต แต่ละรุ่น มันแล้วแต่จริงๆ หรือนี่คงเป็นเสน่ห์ของการชงกาแฟจริงๆครับ. เช่นตอนนี้ สำหรับผม กำลังติดใจความหอมและรสชาด ของ ผงกาแฟจากญี่ปุ่นในภาพมากๆครับ ก่อนหน้านี้ ก็ไปสั่งบด French Blend 50% ผสมโน่นนี่ อีก 50% ในห้างมาตลอด.
ยี่ห้อ Bialetti นี้ ราคาจะแพงกว่ายี่ห้ออื่นอยู่แล้วครับ เพราะความเป็นต้นตำหรับ สำหรับความปลอดภัย และคุณภาพเชื่อถือได้แน่นอน ตามความเห็นส่วนตัวคิดว่า คุ้มค่ากับราคาที่ผมซื้อมาครับ เพียง ประมาณ 1500 – 1600 บาทไทย (หิ้วกลับมาเอง) ส่วนร้านที่ไทยคงขายแพงกว่านี้ เพราะเค้าต้องมี ค่านำเข้า ค่าหิ้ว ค่าดำเนินการ ค่าโปรโมท ค่าภาษี เป็นต้น ส่วนตัวคิดว่าให้คนเอามาขายเค้าได้กำไรกันเถิดครับ เราจะได้มีของใหม่ๆมาในตลาดเยอะๆ แข่งขันกันเยอะๆ
ใครที่ใช้ mokapot อยู่แล้ว ผมว่ายังไม่คุ้มที่จะเปลี่ยนมาใช้รุ่นนี้ครับ เพราะมันแตกต่างกันแค่ เครื่องมันสวยเท่ห์ดี และมีฟองเพิ่มนิดนึง (ต้องใช้ความชำนาญ) แต่รสชาติกาแฟมันก็เหมือนๆกันแหละครับ คุณอาจจะผิดหวังได้ เพราะด้วยรูปร่างหน้าตาสวยงามจับใจมันทำให้คนอ่านบทความนี้อาจจะตั้งความหวังไว้สูง ถ้าคุณมี mokapot รุ่นปกติๆที่ใช้งานได้ดีอยู่แล้ว ผมคิดว่าเก็บเงินไปซื้อผงกาแฟดีๆหอมๆดีกว่าครับ
ส่วนใครที่ยังไม่มี หรือ ของเดิมเสื่อมหรือเสียแล้ว และสนใจหาข้อมูลเพื่อหาซื้อ mokapot ใบใหม่ อยู่นั้น, Bialetti brikka รุ่น พิเศษ บริกก้า ใบนี้ ก็เป็นหนึ่งในตัวเลือกที่ดีได้แน่นอนครับ
—–
อย่าลืมครับ ผมทำรีวิว Moka Pot รวมทั้งหมด 3 แล้ว ลองไปชมกันต่อเลยครับ
รีวิว หม้อต้มกาแฟสด ม๊อคค่าพ๊อท
เป็นประสบการณ์ที่กลมกล่อมในเนื้อหาสาระที่
อ่านแล้วต้องขอบคุณที่พี่ได้ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในทางตรงกับความตั้งใจที่สื่อให้กับผู้ที่กำลังค้นคว้าที่ด้อยประสบการณ์เพื่อต่อยอดสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ด้อยประสบการณ์
ดีมากครับ
ขอบคุณมากครับ ที่แวะมาเยี่ยมชม และได้ใช้ประโยชน์จากอีโวโพลิส ของเราครับผม ^^
ขอบคุณมาก ไม่มีความรู้ อ่านแล้วเข้าใจและได้คำตอบในคำถามที่อยู่ในใจเลยค่ะ
ขอบคุณมากครับ ที่แวะมาเยี่ยมชม และได้ใช้ประโยชน์จากอีโวโพลิส ของเราครับผม ^^
มีคำถามค่ะ คือพอต้มแล้วเดือด กาแฟพุ่งออกมาล้นเลยค่ะ เป็นเพราะอะไรคะ ลองหลายครั้งก็เป็นแบบนั้นค่ะ แต่ตอนต้มน้ำเปล่าทิ้งสองครั้งแรกไม่เป็นนะคะ เป็นเพราะใส่ผงกาแฟมากเกินไปรึเปล่าคะ
สวัสดีครับ ปกติ ถ้ากาแฟล้นเลย น่าจะเกิดจากการ ตวงน้ำมาก เกินไปนะครับ
– ถ้า รุ่นธรรมดา ให้ตวงใส่ในหม้อต้มส่วนล่าง ให้น้ำสูงถึงแค่ตรงประมาณกึ่งกลาง วาวล์ ด้านใน
– ถ้า Brikka ให้ตวงใน กาด้านบน ให้น้ำถึงระดับ ที่มีปั๊ม H2O แล้วเทใส่หม้อต้มส่วนล่าง
ถ้าเป็นการพุ่งมากๆ (ไม่ใช่ล้น)
ผงกาแฟใส่ได้ถึงขีดที่มีบอกไว้ในถาดรองผงกาแฟครับ
การแฟแนะนำให้ใช้แบบบด ปานกลางถึงหยาบ ไม่ควรละเอียดมาก เพราะเวลาชุ่มน้ำมันจับตัวเกิดความดันสูงทำให้พุ่งแรง
การใส่กาแฟ ตักผงใส่แล้วเกลี่ยให้เรียบก็พอ ไม่ต้องไปกดมันนะครับ ถ้ากดความตันมันจะสูง มันอาจจะพุ่งแรงไปได้
– รุ่น brikka เมื่อได้ยินเสียงแล้วมีน้ำกาแฟพุ่งออกมา นับในใจ 3 วินาที ให้ปิดไฟ แล้วเทเสริฟท์ในถ้วยทันทีเลย ไม่ต้องรอให้มันพุ่งจนเสร็จ
– รุ่น ธรรมดา รอให้มันพุ่งจนเสร็จแล้วปิดไฟ
ไม่ยากครับ ทดลองทำบ่อยๆเดี๋ยวก็ชินครับผม
ผมใช้ brikka ได้ปกติ 4 ครั้ง ครั้งที่ 5 กาแฟไม่พุ่ง แก้ไขอย่างไรครับ
ไม่เคยเป็นนะครับ ปกติ เมื่อความร้อนถึง ความดันควรจะเพิ่มขึ้นและกาแฟจะพุ่ง
ส่วนจะพุ่งแรงพุ่งเบา ขึ้นกับหลายๆอย่าง แต่มันควรต้องพุ่งเพราะความดันจะสะสมจนถึงจุดที่อะไรก็ขวางไม่ได้
ทีนี้ที่บอกว่าไม่พุ่งเลย นี้ผมก็แปลกใจ ครับ
แต่ลองตรวจสอบ เบื้องต้นดังนี้นะครับ
1. ทำความสะอาดบริเวณวาวล์ที่หัวท่อส่งน้ำกาแฟ ให้ลองหมุนวาวล์เอาออกมาทำความสะอาด โดยเฉพาะตรงยางด้านใน บางทีกาแฟมันไปเกาะทำให้เกิดความเหนียวไป ส่งผลให้วาวล์ติด ซึ่งที่เคยเจอคือต้มนานและกาแฟจะพุ่งรุนแรงมาก เพราะความดันสะสมสูงไป, วาวล์ตัวนี้ มันจะต้องไม่ติด ขยับๆยกๆหมุนๆได้อิสระคือมันต้องไม่ติดแน่นกับท่อนำกาแฟครับ
2. ทำความสะอาดบริเวณ ถาดรองกาแฟ ว่าไม่อุดตัน
3. ลองเปลี่ยน ผงกาแฟ ดู โดยลองเป็นแบบบดหยาบมากขึ้นหน่อย และเวลาใส่ผงกาแฟอย่ากด แต่ให้ปาดให้เรียบก็พอ
4. ตรวจดู เตาแก๊ส ว่าให้ความร้อนยังปกติดีอยู่หรือไม่
5. เวลาหมุนกากับหม้อต้ม ให้มั่นใจว่าไม่ปีนเกลียว ไม่มีผงกาแฟที่ขอบ และ หมุนแน่นพอสมควร
เท่าที่นึกได้จะมีแค่นี้ก่อนครับ
ไม่ทราบว่าเฉพาะวาล์วมีขายหรือเปล่าคะ เนื่องจากของเก่าเสียคะ หาซื้อได้ที่ไหนคะ
ยังไม่เคยเห็นว่าในไทยมี เฉพาะวาวล์ทั้งตัวบน และตัวล่างข้างหม้อต้ม มาขายเลยครับ
ตามเว็บต่างประเทศ ตัวบนก็ไม่เคยเจอ แต่ตัวล่างก็พอจะมีบ้างแต่ไม่ใช่ของรุ่น Brikka ครับ
ขอบคุณที่แวะมาเยี่ยมชมครับผม